Published 17 พฤศจิกายน 2022

วรุณา ร่วมมือสตาร์ทอัพ “อีซีไรช์” ใช้ Deep Tech ยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย เพิ่มมาตรฐานเกษตรครบวงจร แข่งขันได้ในตลาดโลก

วรุณา (VARUNA) บริษัทในเครือ เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ผู้นำการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของประเทศไทย

วรุณา (VARUNA) บริษัทในเครือ เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ผู้นำการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของประเทศไทย มุ่งเดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไทยต่อเนื่อง ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับอีซีไรช์ (Easy Rice) ใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวไทยให้ได้มาตรฐาน สร้างรายได้ทั้งระบบด้วยการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ให้กับ “ข้าวไทย” ให้เกษตรไทยแข็งแกร่งและยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างครบวงจร สอดคล้องกับแนวคิด Agri-Tech ของทั้งสองบริษัทที่จะช่วยผลักดันให้ภาคการเกษตรของไทยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ และตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรของประเทศไทย

นางสาวพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า วรุณามีจุดมุ่งหมายในการยกระดับคุณภาพเกษตรกรไทย โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในวงการเกษตรกรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเกษตรไทยมาโดยตลอด ล่าสุดกับความพร้อมพัฒนาข้าวไทยให้แข็งแกร่ง เดินหน้าจับมือพันธมิตรกับอีซีไรช์ (Easy Rice) ซึ่งมีแนวคิดและมีความมุ่งมั่นในการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย ซึ่งเป็นอาหารหลักของประชากรโลก ด้วยการประยุกต์กับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมไปถึงรวบรวมข้อมูลกระบวนการผลิต ตั้งแต่ผู้ผลิตถึงผู้บริโภคอยู่ในแฟลตฟอร์มดิจิทัลเช่นกัน ทำให้ปัจจุบันทั้งวรุณาและอีซีไรช์จึงร่วมกันพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิด Agri-Tech ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้ยั่งยืน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเกษตร (Value Chain)

ทั้งนี้ วรุณา เข้าไปมีส่วนร่วมใช้เทคโนโลยีจัดการภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ ในเรื่องการจัดการเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจร (End-to-End Smart Farm Management) เพื่อวางแผนและเพาะปลูกในภาคการเกษตรแบบครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวิเคราะห์ วางแผนการเพาะปลูก และจัดการแปลงผลผลิต ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม (Satellite) กับโดรนสำรวจและภาพถ่าย (Multispectral Drone) วิเคราะห์แปลงเกษตรได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และนำดาต้ามาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านแพลตฟอร์ม “Varuna Analytics” ช่วยติดตามสุขภาพของข้าว (Crop Health Monitoring) ติดตามการเจริญเติบโต (Growth Stage Monitoring) และช่วยคาดการณ์ผลผลิต (Yield Prediction) ว่าได้มาตรฐานที่ควรจะเป็นตามระยะเวลานั้นๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังใช้โดรนการเกษตร (Sprayer Drone) “เจ้าเอี้ยง” ช่วยดูแลเรื่องการพ่นปุ๋ยและฉีดผลิตภัณฑ์การเกษตรได้สะดวกขึ้น สามารถเข้าถึงแปลงนาข้าวขนาดใหญ่ได้ง่ายและรวดเร็ว มั่นใจในประสิทธิภาพการพ่นปุ๋ยตรงแปลง ไม่เปลืองผลิตภัณฑ์การเกษตร ช่วยลดเวลาการทำงาน และเกษตรกรไม่ต้องสัมผัสสารเคมี ในส่วนของอีซีไรช์ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำเครื่องตรวจคุณภาพข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งการจับมือร่วมกันของทั้งสององค์กร จะมีส่วนช่วยเติมเต็มด้านเทคโนโลยีซึ่งกันและกันให้ครบทั้ง Value Chain อุตสาหกรรมเกษตรข้าวไทย และผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยสามารถเป็น Smart Farmer ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ด้านอีซีไรช์ (Easy Rice) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ให้บริการโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมข้าว อาทิ โรงสีและผู้ส่งออกข้าว โดยเป็นรายแรกและรายเดียวที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในด้านการใช้ AI เพื่อกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและสายพันธุ์ข้าว โดยมียอดผู้ใช้งานในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 100+ ผู้ใช้งาน ได้ทำการตรวจข้าวไปแล้วมากกว่า 28% ของจำนวนส่งออกข้าวในประเทศไทย และผ่านการตรวจข้าวกว่า 700,000 รายการ

นายภูวินทร์ คงสวัสดิ์ CEO and Co-founder กล่าวว่า ในความร่วมมือครั้งนี้ อีซีไรช์ มองถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพและการต่อยอดทางเทคโนโลยีเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ข้าว โดยใช้แหล่งข้อมูลจากที่มาของเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรของวรุณา และเล็งเห็นว่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมกันสร้างเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาด (Demand) ตลอดจนสร้างความโปร่งใส การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในการทำการเกษตร ความเป็นธรรมที่ให้กับผู้ปลูก รวมไปถึงสุขภาพของผู้บริโภคและบริการอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถเกิดขึ้น และเป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายสำคัญอย่างผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทานข้าว (Stakeholders in Rice Supply chain) ให้มีความยั่งยืน

อีซีไรช์ยังใช้เครื่องมือเพื่อเพิ่มทางเลือกในการตรวจสอบมากขึ้น จากเทคโนโลยีที่ตรวจสอบเพียงกายภาพ สู่การตรวจขั้นสูงให้ลึกถึงสารอาหารภายในผลผลิต สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ประกอบการในการติดตาม (Tracking) และบันทึกข้อมูล นำไปสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านกระแสความนิยมเรื่องสุขภาพ (Healthy Food Trend) ของผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยเป็นมาตรฐานในการซื้อขาย เปรียบเสมือนไม้บรรทัดให้ผู้ขายข้าว และผู้รับซื้อข้าว มีจุดกึ่งกลางและความเท่าเทียมกันในการเจรจา ทั้งคุณภาพและราคา เพื่อให้ข้อตกลงเป็นไปอย่างพึงพอใจทั้งสองฝ่ายและเป็นธรรมโดยมีมาตรฐานทางด้านวิทยาศาสตร์มารองรับ

สำหรับประโยชน์ที่ภาคเกษตรกรรมจะได้รับจากการใช้เทคโนโลยีดีพเทคและความร่วมมือของทั้ง วรุณาและอีซีไรช์นั้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการโรงสีมีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นในการตรวจคุณภาพข้าวได้ดียิ่งขึ้น และส่งผลไปถึงคุณภาพข้าวที่จะส่งออกอีกด้วย อีกทั้งการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่วัดผลได้ รวมทั้งข้อมูลที่ถูกเก็บตั้งแต่ต้นน้ำ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้เหล่านี้ ยังสามารถนำไปใช้สร้างความเชื่อมั่นกับประเทศนำเข้า เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเส้นทางการผลิตว่าปลอดภัยจริงและมีความยั่งยืน มากไปกว่านั้นยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกรโดยการตรวจสอบพันธุ์ข้าวก่อนปลูกเพื่อช่วยลดต้นทุนทางด้านใช้เมล็ดและรวมไปถึงการบริหารจัดการภายในกลุ่มหรือชุมชนได้สะดวก ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะนำไปสู่การทรานฟอร์มอุตสาหกรรมให้เป็นดิจิทัลและรองรับการแข่งขันในอนาคต

ในขณะเดียวกันเมื่อข้าวไทยคุณภาพดีสามารถส่งออกได้ ย่อมทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งผลดีกับเกษตรกรไทยจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก จนทำให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ขึ้นมาในอนาคตอีกด้วย

“วรุณาและอีซีไรช์ เรามีความตั้งใจจะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มข้าวในประเทศไทย และพยายามหาวิธีแก้ปัญหาเรื้อรังของเกษตรกร ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการ “แก้จน” ให้กับชาวนาไทย นำเสนอแนวทางที่เป็นมาตรฐานของการเพาะปลูกข้าวแต่ละประเภท รวมทั้งการปรับปรุงข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ทำให้มีผลผลิตที่ดียิ่งขึ้น เพิ่ม Productivity รายแปลงได้จริง เปิดประตูโอกาสส่งออกข้าวไทยด้วยการใช้ DATA การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการส่งออก นับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อปฏิบัติตามมาตรการนำเข้าของประเทศต่างๆ และยังป้องกันนโยบายกีดกันทางการค้าในอนาคตได้อีกด้วย” พณัญญา กล่าวทิ้งท้าย